ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บทความแนะนำ

เที่ยวพม่าเมืองพญาตองซู ในราคาหลักร้อย ที่สังขละบุรี

นักท่องเที่ยวสามารถทำใบผ่านแดนเข้าไปในพม่าได้ภายใน 1 วัน เพื่อเข้าไปชมเมืองพญาตองซูในประเทศพม่า ที่ห่างจากบริเวณด่านไปเพียง 3 กิโลเมตร สำหรับราคาแพ็คเก็จทัวร์นั้น 200-400 บาท แล้วแต่บริษัททัวร์ สังเกตุซุ้มทัวร์ต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณลานจอดรถ ซื้อตั๋วครั้งเดียว เที่ยวได้จนครบโปรแกรม วัดเสาร้อยต้น สร้างเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 3 ชั้น ชั้นบนสุดห้ามผู้หญิงขึ้นไป วัดนี้หลวงพ่ออุตตมะเคยสร้างไว้ และเคยจำพรรษาที่นี่ เป็นวัดที่ใช้เสาทั้งต้น จากไม้แดง จำนวนมากถึง 105 ต้น สามารถเข้าไปสักการะพระประธานได้ บริเวณด้านหลังวัด เราจะเจอกับกำแพงพระยืน เป็นพระพุทธรูปประทับบนดอกบัว พร้อมพระอรหันต์จำนวน 120 รูป ยืนเป็นแนวทอดยาวไปยังภูเขา มีความตั้งใจจากท่านเจ้าอาวาสว่าจะสร้างให้ถึง 500 รูปทีเดียว วัดเจดีย์ทอง หรือวัดทองคำ ตั้งอยู่บนเนินเขา ไม่ห่างจากวัดเสาร้อยต้น สามารถขับรถขึ้นไปถึงบริเวณเจดีย์ได้ องค์เจดีย์มีขนาดไม่ใหญ่มาก สีทองอร่าม ฐานทรงเหลี่ยม ด้านบนทรงระฆัง รูปทรงคล้ายกับเจดีย์ชเวดากอง รอบองค์เจดีย์มีซุ้มประดิษฐานพระพม่า จุดนี้เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเมืองพญาตองซู และฝั่งไทย พระพุทธไสยาสน์เจ

กิจกรรมที่ 7 ร่วมงานประเพณีท้องถิ่นสังขละบุรี (มีอะไรกันบ้างมาดูกันครับ)


อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ คือการร่วมงานประเพณีท้องถิ่นของเมืองสังขละบุรี ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นห้วงเวลาต่าง ๆ เราก็สามารถจัดตารางการเดินทางให้เหมาะสมได้ จองที่พักล่วงหน้า แล้วไปลุยกันเลย !!! 
-----------------------------------------
ประเพณีสงกรานต์มอญ
สำหรับชาวมอญนั้น จะมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ในวันประเพณีสงกรานต์ เทพีสงกรานต์จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ดังนั้นในแต่ละบ้าน จะจัดหม้อน้ำใส่น้ำจนเต็ม ประดับด้วยกิ่งดอกไม้สวยงาม หลังจากที่ทางวัดส่งสัญญาณว่า เทพีท่านมาแล้วนะ แต่ละบ้านก็จะเทน้ำลงที่พื้น เปรียบเสมือนการล้างเท้าให้กับเทพีสงกรานต์นั่นเอง ในระหว่างนี้ จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ พากันไปถือศีล หรือจำศีลที่วัด ลูกหลานทั้งหลาย ก็จะนำอาหารไปให้กับผู้มีพระคุณหรือบุพการีของตนเอง ในลักษณะของการเทินไว้บนศรีษะ เพราะเป็นของมงคล








และเมื่อถึงวันสงกรานต์ จะมีการสรงน้ำพระ ชนชาวมอญมีความเชื่อว่าพระนั้นเป็นของสูง เพราะฉะนั้น พระจะอยู่ในสถานที่อันศักสิทธิ์ พระสงฆ์ไม่สมควรเดินบนดิน เพราะอาจจะทำให้ท่านไปเหยียบสัตว์เล็กสัตว์น้อยโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะมีการสรงน้ำ เหล่าหนุ่ม ๆ ชาวมอญจะนอนคว่ำหน้าลงไปกับพื้น เรียงต่อกันเพื่อทอดสะพานให้พระสงฆ์เดิน และความแปลกของการสรงน้ำพระที่นี่คือ การสรงน้ำจะทำรางไม้ไผ่ขนาดใหญ่ขึ้นมา และให้พุทธศาสนิกชนเทน้ำลงไปในรางไม้ไผ่เหล่านั้น และจะไหลรวมกันไปที่พระ ผู้ประกาศจะให้จังหวะเวลาเทน้ำให้พร้อมเพรียงกัน และเมื่อเสร็จพิธี เหล่าชายหนุ่มจะเป็นผู้อุ้มพระสงฆ์เหล่านั้นกลับกุฎีสงฆ์ เพราะฉะนั้นวันนั้นทั้งวัน พระท่านจะสะอาดและบริสุทธิ์มาก


ในวันถัดมา ก็จะเป็นการแห่ฉัตรในประเพณีสงกรานต์ชาวมอญ ซึ่งก็จัดขึ้นนะลานเจดีย์พุทธคยา แห่ขึ้นสู่วัดวังก์วิเวการามนั่นเอง
------------------------------------

งานบุญเดือนสิบ และพิธีลอยเรือสะเดาะเคราห์

ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ชาวไทยรามัญอำเภอสังขละบุรี กำหนดจัด 3 วัน ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่า และบนบก อีกทั้งเพื่อสืบสานประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชน ตลอดทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ให้แก่ชุมชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้ขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมของชาวไทยรามัญ


ขอบคุณภาพสวย ๆ จาก nairobroo.com

ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์นี้ ว่ากันว่าเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าธรรมเจดีย์ขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรมอญ ที่เมืองหงสาวดี พระองค์ทรงเห็นพระภิกษุสามเณรในเมืองหงสาวดี มีความประพฤติย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย จนพระพุทธศาสนาในเมืองมอญเกิดมลทินด่างพร้อยมากมาย จึงมีพระราชประสงค์จะสังคายนาพระพุทธศาสนาเสียใหม่ เพื่อชำระหมู่พระภิกษุสงฆ์ให้มีความบริสุทธิ์ จึงมีพระราชโองการรับสั่งให้พระภิกษุและสามเณรในเมืองมอญลาสิกขาเสียทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วทรงส่งปะขาวถือศีล 8 คณะหนึ่ง ซึ่งก็คือ อดีตพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก ทรงความรู้ ตั้งมั่นในศีล ที่พระองค์มีคำสั่งให้ลาสิกขามาถือศีล 8 เป็นปะขาวนั่นเอง ออกเดินทางไปยังประเทศศรีลังกา เพื่อให้ไปถือการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาใหม่จากคณะสงฆ์ในประเทศศรีลังกา เสร็จแล้วให้เดินทางกลับมาเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ บวชให้แก่คนมอญในเมืองมอญเสียใหม่ คณะของปะขาวนี้ เมื่อเดินทางถึงประเทศศรีลังกา ได้รับการอุปสมบทแล้วก็เดินทางกลับ ในระหว่างทางที่เดินทางกลับนั้น เรือสำเภาลำหนึ่งในจำนวนสองลำโดนพายุพัดให้หลงทิศไป ส่วนอีกลำหนึ่งเดินทางมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย เมื่อทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าธรรมเจดีย์ พระองค์จึงมีรับสั่งให้ทำเรือจำลองขึ้นมา ข้างในบรรจุด้วยของเซ่นไหว้บูชาเหล่าเทวดาทุกหมู่เหล่า ด้วยเครื่องเซ่นไหว้นั้น ให้เหล่าเทวดาทั้งหลาย ที่ดูแลพื้นดินก็ดี ที่ดูแลพื้นน้ำก็ดี ที่ดูแลพื้นอากาศก็ดี ได้มาช่วยปัดเป่าให้เรือสำเภาที่หลงทิศไปนั้น ได้เดินทางกลับมาโดยปลอดภัย หลังจากที่พระองค์ทรงทำพิธีสะเดาะเคราะห์แล้วไม่กี่วัน เรือที่หลงทิศไปนั้นก็เดินทางกลับมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย ชาวมอญจึงถือเอาเหตุการณ์นี้ทำพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ในช่วงกลางเดือน 10 ของทุก ๆ ปี สืบต่อกันมาตราบจนปัจจุบันนี้
----------------------------------------

ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ และออกร้านตลาดนิพพาน

ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ เกิดขึ้นเมื่อหลวงพ่ออุตตมะเดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ที่นำมาประดิษฐษนบนยอดพระเจดีย์พุทธคยาจำลอง และขณะเดียวกัน ท่านได้อัญเชิญหน่อต้นศรีมหาโพธิ์จากประเทศศรีลังกามาด้วยในคราวนั้น จนกระทั่ง วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2530 สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จมาทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ (ปัจจุบันอยู่ที่บริเวณลานจอดรถพระเจดีย์พุทธคยาจำลอง) นับแต่นั้นจึงมีพิธีรดน้ำต้นโพธิ์เกิดขึ้น เหมือนที่ชาวเมืองมอญนิยมปฏิบัติ แต่ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า ประเพณีนี้เริ่มต้นขึ้นในยุคสมัยใด ในทุกวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี โดยในช่วงเย็นถึงค่ำ ชาวมอญจะพร้อมใจกันนำน้ำอบ น้ำหอม น้ำสะอาดลอยด้วยดอกไม้ มาร่วมกันรดน้ำต้นพระศรีมหาโพธิ์ผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ จนได้กลายมาเป็น "ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์" ของชุมชนมอญสังขละบุรีแห่งนี้


นอกจากนี้ในเย็นวันเดียวกัน ยังมีประเพณีที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ "การออกร้านตลาดนิพพาน" (นิพพาน คือ ความดับ ไม่ต้องเกิดอีก อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ดังนั้นพุทธศาสนิกชนคนมอญทุกคนจึงมุ่งมั่น หมั่นทำความดี สร้างกองบุญกองกุศลต่าง ๆ ไว้ มีทั้งการให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา ก็เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งนิพพาน) ซึ่งในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งตรงกับ "วันวิสาขบูชา" อันเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ชาวมอญที่สังขละบุรี ก็จะพร้อมใจกันจัดประเพณีออกร้านตลาดนิพพานนี้ขึ้น หลังจากเสร็จสิ้นการทำบุญรดน้ำต้นโพธิ์แล้ว (สำหรับในปี 2558 ซึ่งเป็นปีอธิกมาส วันวิสาขบูชา จึงถูกเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินของไทย) โดยชาวบ้านที่มาออกร้านในตลาดนิพพาน จะจัดเตรียมอาหารคาว-หวาน ขนม ผลไม้ น้ำดื่ม หรือน้ำหวาน มาตั้งร้านเตรียมไว้ตั้งแต่ช่วงเย็น หลังจากร่วมบุญรดน้ำต้นโพธิ์เสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะไปร่วมกันสมาทานศีล ไหว้พระ สวดมนต์ และเวียนเทียนรอบเจดีย์พุทธคยา จากนั้นจึงจะ "เปิดตลาด" ให้ผู้คนที่มาร่วมงานบุญ ได้นำบุญที่ทำมาแล้วนั้นมาแลกกับสิ่งของ โดยไม่ต้องมีการใช้เงินซื้อแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ขายเองก็ปรารถนาบุญ และการสร้างทานบารมีด้วยเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่าเป็นตลาดที่คนขายก็ได้บุญ คนซื้อก็สุขใจ โดยชาวมอญมีความเชื่อว่าบุญต่าง ๆ ที่ได้สั่งสมไว้แล้วนี้ จะนำพาให้บรรลุถึงซึ่งนิพพานในที่สุด จึงมีชื่อเรียกประเพณีบุญนี้ว่า "การออกร้านตลาดนิพพาน" นับเป็นอีกงานประเพณีที่ยืนยันได้ถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวมอญสังขละบุรีอย่างไม่เสื่อมคลาย

(ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์กระปุก.คอม)
---------------------------------------

ประเพณีฟาดข้าว ชาวกะเหรี่ยง
ประเพณีฟาดข้าว เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณของชาวกะเหรี่ยง แต่ ปัจจุบันนับวันจะสูญหายไป ดังนั้นกลุ่มชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในอำเภอสังขละบุรี จึงได้กำหนดจัดขึ้นทุกปี ในหมู่บ้านของตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี ซึ่งมี ๖ หมู่บ้าน หมุนเวียนกันไปในแต่ละปี โดยชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงทุกหมู่บ้านจะมาร่วมงานเมื่อถึงกำหนด ทั้งนี้จะจัดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ประมาณเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อเป็นการขอบคุณและขอขมาพระแม่โพสพ ที่ให้ข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ สำหรับกิจกรรมในงาน จะประกอบด้วย การแข่งขันฟาดข้าวของแต่ละหมู่บ้าน การร้องเพลงพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้าน การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และการทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์



งานประเพณีฟาดข้าว สืบสานประเพณีวัฒนธรรมพื้นเมืองของชาวกระเหรี่ยงตำบลไล่โว่ จะจัดอยู่ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ช่วงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 เนื่องจากเป็นช่วงที่กลางคืนพระจันทร์เต็มดวง โดยมีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนหมู่บ้านเจ้าภาพกันปีละหนึ่งหมู่บ้าน ซึ่งในตำบลไล่โว่มีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านสเนพ่อง บ้านกองม่องทะ บ้านเกาะสะเดิ่ง บ้านไล่โว่-สาละวะ บ้านทิไล่ป้าและบ้านจะแก ซึ่งปีนี้ บ้านไล่โว่-สาละวะ เป็นเจ้าภาพ
การจัดงานปีนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากเหมือนกับทุกๆปี เนื่องจากประเพณีวัฒนธรรมเกี่ยวกับการฟาดข้าวของตำบลไล่โว่ เป็นการแสดงออกถึงวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่มีต่อธรรมชาติ สิ่งรอบตัว แม้กระทั่งข้าวซึ่งเป็นอาหาร ซึ่งเป็นประเพณีที่ไม่มีโอกาสได้เห็นบ่อยนักในสังคมปัจจุบัน เลยทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นพิเศษ
โดยงานพิธีจะเริ่มในช่วงหัวค่ำจะมีกิจกรรม มีพิธีตัดข้าวบูชาพระแม่โพสพ ที่บันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้เจ้าของไร่ ทำพิธีเรียกขวัญ และฟาดข้าว และระหว่างการฟาดข้าวจะมีการขับร้องเพลงโต้ตอบกันระหว่างคณะครูเพลงชาวกะเหรี่ยง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างหญิง-ชาย สร้างความครื้นเครงและสีสันระหว่างการฟาดข้าว ซึ่งเนื้อเพลงในช่วงแรกๆ จะกล่าวถึงบุญคุณของพระแม่โพสพ การดูแลรักษาธรรมชาติ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นการหยอกล้อ การแซวกัน การจีบกัน ซึ่งระหว่าการโต้ตอบการของทั้ง2ฝ่าย จะต้องมีการแก้เกี้ยวกันให้ทัน เพื่อเป็นการรักษาเชิงและไม่ให้เสียท่าฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจะเป็นศักดิศรีของแต่ละฝ่าย นอกจากนั้นในระหว่างที่พักเหนื่อยอาจมีการละเล่นพื้นบ้าน ประกอบไปด้วย มวยปล้ำ ปีนเสาน้ำมัน เล่นบันไดกระรอก เล่นไต่บันไดลิง เล่นวาลูโจ้ มาเป็นช่วงพักผ่อนคลาย ซึ่งการละเล่นนอกจากจะผ่อนคลายแล้วยังเป็นโอกาสดีที่หนุ่มๆ ที่มาร่วมงานจะได้แสดงความสามารถและพละกำลังให้ สาวๆ ที่มาร่วมงานได้เห็น
หมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพงานประเพณีฟาดข้าว จะต้องมีข้าวไร่ที่อุดมสมบูรณ์และต้องรับหน้าที่ดูแลแขกที่มาเยี่ยมเยือนหมู่บ้าน ต้องเลี้ยงดูเรื่องอาหารการกินให้ฟรีตลอดงาน ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าการเป็นเจ้าภาพงานฟาดข้าวจะได้บุญมาก และงานประเพณีฟาดข้าวเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มาพบปะพูดคุย เพื่อทำความรู้จักกันระหว่างหมู่บ้านต่างๆ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่พี่น้องที่ออกไปอยู่ต่างถิ่น ได้มีโอกาสกลับมาพบปะพูดคุยสังสรรค์กัน บ้านสาละวะ ตั้งอยู่ติดชายแดนเมียนมา ห่างจากตัวเมืองสังขละบุรี ประชากรเป็นชาวกะหรี่ยงทั้งหมดกว่า 300 คน ประกอบอาชีพด้วยการทำไร่ข้าวหมุนเวียนไว้บริโภค
ส่วนการเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านสาลาวะ จะเป็นเส้นทางป่าที่ต้องลุยน้ำ ขึ้นเขา ลงเขา แต่ด้วยสภาพความสมบูรณ์ของธรรมชาติ 2 ข้างทางที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ดึงดูดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างมักจะรอโอกาสที่จะได้มาร่วมงาน

ความคิดเห็น

คนชอบอ่านสิ่งนี้